มัดรวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการขอยื่นกู้ธนาคารเมื่อซื้อบ้าน

ส่วนใหญ่แล้วคนที่วางแผนจะซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัยประเภทใดก็ตามมักใช้วิธีกู้เงินจากธนาคารที่ตนเองมีเครดิตมากกว่าการเก็บเงินซื้อสด เพราะช่วยประหยัดเวลาในการมีบ้านเป็นของตนเอง สามารถวางแผนชีวิตและสร้างครอบครัวง่ายขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทุกครั้งเมื่อซื้อบ้านจะต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขอยื่นกู้ธนาคารเกิดขึ้นแล้วจะมีค่าอะไรบ้าง ต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ ลองศึกษาข้อมูลทั้งหมดเพื่อความพร้อมก่อนดำเนินการของตนเองกันเลย

1907-Blog-ค่าใช้จ่ายเมื่อซื้อบ้าน-05.jpg

เช็กลิสต์ค่าใช้จ่ายในการยื่นกู้ธนาคารเมื่อซื้อบ้าน

  1. ค่าประเมินราคาหลักประกัน

บางธนาคารอาจเรียกเป็นค่าประเมินราคาเมื่อคุณทำการขอสินเชื่อก็ได้เช่นกัน โดยธนาคารจะเรียกเก็บกับผู้ขอกู้เพื่อเป็นค่าดำเนินการที่ต้องประเมินวงเงินสินเชื่อให้กับคุณ ปกติแล้วค่าใช้จ่ายนี้มักตกประมาณ 3,000 – 5,000 บาท / หลัง แล้วแต่มูลค่าบ้านหรือที่ดินในการทำหลักประกัน เป็นเงินที่ต้องจ่ายแบบ 100% หมายถึงแม้กู้ไม่ผ่านก็ไม่ได้รับคืน ยิ่งยื่นธนาคารหลายแห่งมากเท่าไหร่ก็ต้องเสียเงินส่วนนี้มากตามไปด้วย

  1. ค่าบริการด้านสินเชื่อ

ปกติแล้วเมื่อซื้อบ้านด้วยเงินกู้ทางธนาคารเองก็จะต้องเรียกเก็บค่าบริการเกี่ยวกับการทำสินเชื่อของผู้กู้ประมาณ 0.25% ของจำนวนวงเงินกู้ทั้งหมด เช่น คุณกู้ได้ 1 ล้านบาท ค่าบริการสินเชื่อจะอยู่ที่ 2,500 บาท แต่ปัจจุบันหลายธนาคารเองมักออกโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้าโดยไม่ต้องเสียเงินในส่วนนี้

  1. ค่าตรวจสอบข้อมูลเครดิตแห่งชาติ

ขั้นตอนดังกล่าวเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับธนาคารว่าผู้กู้มีเครดิตที่ดีมากพอและไม่เสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้เสียในอนาคตจึงต้องทำการตรวจข้อมูลเครดิต อัตราค่าบริการจะขึ้นอยู่กับศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายส่วนนี้จริง ๆ แล้วทางธนาคารมักไม่ได้เรียกเก็บ แต่ถ้ามีการเก็บจริงมักไม่เกิน 100 บาท / ครั้ง

  1. ค่าอากรแสตมป์

เป็นเงินที่คุณต้องจ่ายเมื่อซื้อบ้านอยู่แล้ว ซึ่งค่าอากรแสตมป์เสมือนเป็นค่าบริการที่หน่วยงานราชการดำเนินงานตามขั้นตอนต่าง ๆ ให้กับคุณ อัตรามาตรฐานจะอยู่ที่ 0.05% ของวงเงินกู้ เช่น กู้ 1 ล้านบาท ต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์ 500 บาท ตรงนี้ธนาคารจะทำหน้าที่ในฐานะผู้รับจ่ายและมีการนำเสนอต่อให้กับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

1907-Blog-ค่าใช้จ่ายเมื่อซื้อบ้าน-01.jpg

 

  1. ค่าธรรมเนียมการจดจำนอง

ค่าใช้จ่ายส่วนนี้มีอัตราตามมาตรฐานที่ระบุเอาไว้อยู่เช่นกัน ซึ่งคิดอยู่ 1% ของมูลค่าการจำนอง ทั้งนี้อัตราสูงสุดที่กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 2 แสนบาท (ยกเว้นกรณีเป็นหลักประกันของคอนโด) ธนาคารเองจะทำหน้าที่เพียงแค่ผู้รับจ่ายและนำเสนอต่อไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในลำดับถัดไป

  1. ค่าตรวจงวดงาน

หากคุณซื้อบ้านกับโครงการจะไม่ต้องเสียเงินในส่วนนี้ แต่กรณีที่มีการปลูกสร้างบ้านบนพื้นที่ใดก็ตาม ธนาคารมักเรียกเก็บเงินดังกล่าวครั้งละประมาณ 500 – 1,000 บาท ตามวงเงินกู้และทำเลที่ตั้งของหลักประกัน เสมือนเป็นเงินค่าธรรมเนียมที่เจ้าหน้าที่ต้องออกมาตรวจดูความคืบหน้าของการก่อสร้าง ไม่ใช่นำเอาเงินกู้ไปใช้ทำจุดประสงค์อื่น ๆ

  1. ค่าประกันอัคคีภัย

นี่คือเงินที่คุณต้องจ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อซื้อบ้านโดยวิธีกู้สินเชื่อกับธนาคาร ประกันภาคบังคับที่ธนาคารยืนยันว่ายังไงก็ต้องซื้อหากชื่อผู้ถือครองยังเป็นชื่อของตัวธนาคารเอง แถมปัจจุบันยังมีกฎหมายบังคับเรื่องนี้ด้วย ปกติแล้วค่าเบี้ยประกันอัคคีภัยจะอยู่ราว 0.10 – 0.45% ของทุนประกัน หรือเฉลี่ยแล้วตกราว 1,000 บาทเศษ ต่อปี โดยมักต่ออายุทุก 3 ปี 

  1. ค่าติดตามทวงหนี้

ส่วนนี้จะเป็นค่าใช้จ่ายเมื่อทุกขั้นตอนการกู้สินเชื่อบ้านของคุณผ่านฉลุยเรียบร้อย แต่เมื่อผ่อนไปเรื่อย ๆ ปรากฏมีปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงินจนไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ในแต่ละงวดได้ตามกำหนด หากระยะเวลาการผิดนัดชำระเข้าเกณฑ์ ธนาคารบางแห่งจะมีการเรียกเก็บเงินค่าติดตามทวงหนี้เพิ่มเติมเฉลี่ยแล้วประมาณ 500 – 1,000 บาท 

  1. ค่าปรับดอกเบี้ยเมื่อผิดนัดชำระหนี้

อย่าลืมว่าเมื่อซื้อบ้านแล้วเท่ากับคุณต้องมีภาระทางการเงินเพิ่มขึ้นและเมื่อไม่สามารถจ่ายเงินกู้ซื้อบ้านได้ตามระยะเวลาที่กำหนดนอกจากค่าติดตามทวงหนี้แล้วยังต้องเสียค่าปรับดอกเบี้ยผผิดนัดเพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งนี้อัตราค่าปรับดังกล่าวพึ่งมีการปรับปรุงใหม่เมื่อปี 2563 โดยจะคำนวณเฉพาะเงินต้นของงวดที่มีการผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น ซึ่งอัตราค่าปรับส่วนใหญ่ของแทบทุกธนาคารมักอยู่ราว 15 – 18% ไม่ห่างกันเท่าใดนัก

  1. ค่าเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย

กรณีคุณผ่านอนุมัติในการซื้อบ้านเรียบร้อย แต่พอลองประเมินแล้วอยากปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่อีกครั้งตรงนี้ก็สามารถทำได้ หรือแม้แต่ช่วงที่คุณกำลังผ่อนชำระเมื่อครบกำหนด 3 ปี จะใช้วิธี Retention แทนการ Refinance ก็มีความหมายแบบเดียวกันนั่นคือ อยากปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทางธนาคารมักคิดค่าบริการดังกล่าวประมาณ 0.25 – 1.0% ของยอดเงินต้นคงค้าง

  1. ค่าปรับในการไถ่ถอนก่อนกำหนด

หากคุณมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี สามารถผ่อนชำระหรือโปะเงินก้อนได้เร็วกว่าระยะเวลาสัญญาที่กำหนดไว้ในตอนแรกจะต้องเสียค่าปรับส่วนนี้ประมาณ 3% ของยอดเงินกู้คงเหลือรอบสุดท้ายก่อนทำการชำระทั้งหมด แต่ทั้งนี้หลายธนาคารมักกำหนดเอาไว้ว่าภายใน 3 หรือ 5 ปี หากผ่อนชำระหมดก่อนจะไม่ต้องเสียค่าไถ่ถอนก่อนกำหนด

ทั้งหมดนี้คือค่าใช้จ่ายที่จะต้องเกิดขึ้นเมื่อซื้อบ้านด้วยวิธีขอสินเชื่อกับธนาคาร อย่าลืมนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการคำนวณเงินด้านอื่น เพื่อวางแผนอย่างรอบคอบ และสามารถซื้อบ้านในฝันได้อย่างที่ตั้งใจเอาไว้เลย

1907-Blog-ค่าใช้จ่ายเมื่อซื้อบ้าน-03.jpg

ที่มาข้อมูล

www.home.co.th

blog.ghbank.co.th

Date : 04 Sep 2023

  • เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ คุณต้องยอมรับคุกกี้
    เพื่อใช้งานเว็บไซต์ คุณสามารถตรวจสอบ นโยบายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  • นโยบายว่าด้วยการ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล